ในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนาครบ 63 ปี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา มีการแถลงทิศทางนโยบายการดำเนินงานก้าวสู่ปีที่ 64 เพื่อมุ่งเปลี่ยนผ่าน 3 ด้านคือ หนึ่ง KLLC & Global Innovation ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและสร้างนวัตกรรมระดับโลก สอง ก้าวสู่การเป็น digital and smart university และสาม มุ่งสู่การเป็น sustainable university มหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน
ด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สร้างพื้นที่สีเขียว และตอกย้ำศักยภาพในเวทีระดับโลกด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล รวมถึงการมุ่งสู่การเป็น “ผู้นำด้านนวัตกรรมระดับโลก” พร้อมตั้งเป้าหมายในปี 2028 สจล.จะลดปริมาณคาร์บอนลงร้อยละ 50 และจะมุ่งสู่เป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับประเทศไทย (carbon neutrality) ในปี 2050
ก้าวสู่ปีที่ 64
“รศ.ดร.คมสัน มาลีสี” อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ในโอกาสที่ สจล. ครบรอบวันคล้ายวันสถาปนาครบ 63 ปี และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สจล.เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา การคมนาคม ขนส่ง เทคโนโลยี วิจัย ฯลฯ
ปัจจุบัน สจล.มี 2 แคมปัส ได้แก่ สจล.ลาดกระบัง และวิทยาเขตชุมพร ประกอบด้วย 11 คณะ 5 วิทยาลัย มีนักศึกษารวมกว่า 25,000 คน พร้อมห้องปฏิบัติการ-ศูนย์วิจัยกว่า 50 แห่ง ดังนั้น ในการก้าวสู่ปีที่ 64 สจล.วางแนวนโยบายในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย the world master of innovation ด้วยการทำให้สถาบันมีคุณภาพทั้งในด้านคุณภาพการศึกษา คุณภาพชีวิต และความยั่งยืน โดยกำหนดเป็นนโยบายการบริหารงานและพัฒนาสถาบันใน 3 ด้าน ได้แก่
หนึ่ง ด้านส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต KLLC & Global Innovation การเรียนรู้ตลอดชีวิตและสร้างนวัตกรรมระดับโลก ทั้งด้านระบบการทำงาน คุณภาพชีวิต ต่อยอดเครือข่าย ส่งเสริมนวัตกรรม โดยสำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิตพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ KLLC สร้างสรรค์พัฒนาทั้งระบบการทำงาน คุณภาพชีวิต ต่อยอดเครือข่าย ส่งเสริมนวัตกรรม
และผลักดันด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) ด้วยหลักสูตรปกติ รวมทั้งกิจกรรม และหลักสูตร KLLC อีกกว่า 100 วิชา เพื่อเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทั้งออนไลน์ และออนไซต์ของคนไทยทุกช่วงวัย
สอง การเป็น digital and smart university สจล.เตรียมแผนยกระดับการบริหารจัดการ และส่งเสริมการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลผ่านสำนักบริหารข้อมูลดิจิทัล KDMC : KMITL Data Management Center สจล. เข้าสู่การเป็น digital university เป็นมหาวิทยาลัยที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในการเรียน การสอน และบริหารงาน
ด้วยชุดข้อมูลพร้อมวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการพัฒนาทักษะความรู้ เพื่อออกแบบหลักสูตรที่เหมาะกับประชากรคนรุ่นใหม่ของไทย ทั้งการคาดประมาณแนวโน้มคุณภาพประชากร การพัฒนาด้านการเรียนการสอน โดยสำนักบริหารข้อมูลดิจิทัล และสำนักทะเบียนและประมวลผล
พร้อมดำเนินการขับเคลื่อนสู่การเป็น “smart university” หรือ “มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ” รองรับอนาคต digital lifestyle ได้แก่ การพัฒนาระบบ e-Wallet x KMITL UApp เชื่อมโยงระบบการทำธุรกรรมดิจิทัลของธนาคารกับทุกกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยไว้ในที่เดียว, บริการระบบจองที่จอดรถอัจฉริยะ ตรวจหาที่จอดรถว่างผ่าน AI CCTV พร้อมจองที่จอดรถล่วงหน้า และชำระค่าจอดรถผ่านระบบ e-Wallet รวมถึงสามารถดูรถที่จอดทิ้งไว้ได้ตลอดเวลาผ่านระบบ AI CCTV ในมหาวิทยาลัยได้
นอกจากนั้น ยังสร้าง KMCH Telemedicine เชื่อมโยง รพ.เจ้าคุณทหารลาดกระบัง บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่านการ แชต โทร. หรือ วิดีโอคอล รองรับการเบิกจ่ายในกรณีที่ สปสช.กำหนด สามารถรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน หรือเลือกรับยาที่บ้านได้ด้วยการใช้บริการนำส่งยาผ่าน taxi win และอื่น ๆ อีกมากมาย
เป็นมหาวิทยาลัยที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
สาม ด้านความยั่งยืน sustainable university มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สร้างพื้นที่สีเขียว และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น สจล.ติดตั้งระบบ solar roof ขนาด 2 เมกะวัตต์ ที่ KLLC และหอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ทำให้สามารถประหยัดพลังงาน และลดคาร์บอนฟุตพรินต์
ทั้งนี้ สจล.มุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาโลกร้อนพร้อมไปกับพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน (sustainable university) และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่บุคลากร นักศึกษา และสังคม โดยตั้งเป้าหมายในปี 2028 สจล.จะลดปริมาณคาร์บอนลงร้อยละ 50 และจะมุ่งสู่เป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน สำหรับประเทศไทย (carbon neutrality) ภายในปี 2050 ภายใต้บริบทของ สจล.ในการเป็นต้นแบบด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อก้าวสู่โลกอนาคต บนคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ทุกกิจกรรม ทุกโครงการเป็นนโยบายที่กำหนดตัวชี้วัดไว้ 9 ระดับ เรียกว่า KMITL Readiness Level โดยกำหนดแนวทางขับเคลื่อนที่ชัดเจนในแต่ละช่วงเวลา เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลกภายในปี 2033 และมุ่งสู่การเป็น the world master of innovation เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลก ดังนี้
1.การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อกำหนด และระเบียบปฏิบัติอื่น ๆ ตามมาตรฐานสากล
2.พัฒนาสถาบันให้สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ทั้ง 17 เป้าหมาย ขององค์การสหประชาชาติ (UN)
3.บริหารการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมในสถาบัน
4.พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงด้านภูมิทัศน์ตามหลักการจัดสวนเชิงนิเวศและพื้นที่สีเขียว
5.ส่งเสริมระบบบริหารการจัดการ ปรับปรุง ป้องกัน และควบคุมมลพิษ ขยะ น้ำเสีย อากาศ สารเคมี และมลพิษอื่น ๆ ภายใต้มาตรฐานที่กำหนด
6.สร้างจิตสำนึก ให้ความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและบุคลากรตามหลักการ 3R คือ reduce (ลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็น) reuse (การใช้ซ้ำ) และ recycle (แปรรูปมาใช้ใหม่) เพื่อลดปริมาณขยะและของเสียที่เกิดขึ้น
7.ส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคมนาคมขนส่งแบบใช้พลังงานทางเลือก เพื่อการบริการบุคลากรและนักศึกษา
8.สนับสนุนงานวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างระบบการจัดการการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน และทรัพยากรอย่างยั่งยืน
และ 9.ส่งเสริมให้การจัดซื้อ จัดจ้าง ต้องใช้หรือคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ
ในโอกาสนี้ สจล.ขอรณรงค์การนำขยะพลาสติกสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยเปิดตัวน้อง “เซอร์ครอค” (Cir Croc) ประติมากรรมในรูปลักษณ์จระเข้ 3R ให้เยาวชนและคนไทยร่วมใจกันลดใช้พลาสติก สนับสนุนการใช้วัสดุรีไซเคิล และช่วยกันรวบรวมขยะพลาสติกเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลในที่สุด
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/education/news-1380969