Skip to main content

ประวัติคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี

Image

 

ประวัติดอกไม้แก้วเจ้าจอม

ต้นแก้วเจ้าจอม นำเข้ามาเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาสอินโดนีเซียมีลักษณะดอกคล้ายดอกแก้ว แต่มีสีที่แตกต่างออกไป คือ สีฟ้าอมม่วง มีลักษณะใบประกอบเป็น 2 คู่ หรือ 3 คู่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาปลูกไว้เพื่อเป็นที่ระลึกในการสูญเสียสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารัตน์ พระบรมรมราชเทวีพระปิยมเหสีในพระองค์ ต่อมา ศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ ได้เป็นผู้ตั้งชื่อไม้ชนิดนี้ว่า "แก้วเจ้าจอม" หรือ "น้ำอบฝรั่ง" 

เมื่อครั้งการบริหารงานคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์แบ่งแยกส่วนราชการออกจากกัน วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ 2531 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ได้ย้ายมาอยู่ที่อาคารปฏิบัติการคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมคุณหญิงวนิดา ธูปะเตมีย์ คณบดีและคณะผู้บริหารในสมัยนั้น ได้นำดอกไม้ชื่อแก้วเจ้าจอม มาเป็นสัญลักษณ์แห่งครุศาสตร์ฯ ลาดกระบัง และต้นไม้นี้ได้ปลูกไว้ที่หน้าคณะและมีอยู่ถึงทุกวันนี้

แก้วเจ้าจอมเป็นไม้กลางแจ้ง ค่อนข้างโตช้า ข้อมูลสรรพคุณเชิงสมุนไพรบอกว่า ใช้น้ำคั้นจากใบกินแก้อาการท้องเสีย เปลือกและดอกใช้เป็นยาระบายอีกทั้งยังเชื่อกันว่าหากนำไปปลูกและดูแลรักษาจนได้ดอกแล้วจะเป็นสิริมงคลทั้งนี้ แก้วเจ้าจอม ได้ถูกจัดลำดับของพันธุ์พืชอนุรักษ์ในบัญชีที่ 2 ภายใต้พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2525
 

ประวัติความเป็นมาของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 ด้วยความคิดริเริ่มของ ศาสตราจารย์ ดร.วิทยา เพียรวิจิตร รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศาสตราจารย์ประสม รังสิโรจน์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ที่จะให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร เป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ของสถาบันที่ว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรีให้การศึกษาและวิจัยทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์

ดังนั้น เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงได้นำส่วนราชการระดับภาควิชา ทางสาขาวิทยาศาสตร์ ภาษาสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ซึ่งสังกัดอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ขณะนั้น แยกออกมารวมเข้าด้วยกัน จัดตั้งเป็นคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ โดยรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ได้ลงนามอนุมัติเมื่อ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 มีภารกิจที่สำคัญ คือ รับผิดชอบการผลิตครูอาชีวศึกษาสำหรับวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาต่างๆ และจัดการเรียนการสอนหมวดวิชาพื้นฐานทั่วไป (ปัจจุบันรียกว่าหมวดวิชาศึกษาทั่วไป) ตามหลักสูตระดับปริญญาตรีให้กับคณะต่างๆ ภายในสถาบันฯ โดยมีการแบ่งส่วนราชการในคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์ ดังนี้
1. สำนักงานเลขานุการคณะ
2. ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม
3. ภาควิชาภาษาและสังคม
4. ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2531 ทบวงมหาวิทยาลัยอนุมัติให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ขึ้น โดยรวบรวมภาควิชาและบุคลากรทางวิทยาศาสตร์แยกออกจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ จัดตั้งเป็นคณะวิทยาศาสตร์ ส่วนคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์เดิมเปลี่ยนชื่อเป็น คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษหน้า 44 เล่ม105 ตอนที่ 206 วันที่ 8 ธันวาคม 2531 มีส่วนราชการต่าง ๆ ดังนี้
1. สำนักงานคณบดี
2. ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม
3. ภาควิชาภาษาและสังคม
4. โครงการภาควิชาครุศาสตร์วิศวกรรม
5. โครงการภาควิชาครุศาสตร์สถาปัตยกรรม
6. โครงการภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยีการศึกษา

พ.ศ. 2534 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมได้รับอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยให้จัดตั้งภาควิชาใหม่เพิ่มขึ้น 3 ภาควิชา คือ
1. ภาควิชาครุศาสตร์วิศวกรรม
2. ภาควิชาครุศาสตร์สถาปัตยกรรม
3. ภาควิชาครุศาสตร์เกษตร
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม จึงมีส่วนราชการรวมทั้งสิ้น 6 หน่วยงานดังนี้
1. สำนักงานคณบดี
2. ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม
3. ภาควิชาภาษาและสังคม
4. ภาควิชาครุศาสตร์วิศวกรรม
5. ภาควิชาครุศาสตร์สถาปัตยกรรม
6. ภาควิชาครุศาสตร์เกษตร

พ.ศ. 2551 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จึงมีการจัดแบ่งหน่วยงานใหม่ดังนี้
1. ส่วนวิชาการ ประกอบด้วย 5 สาขาวิชา และ 1 ศูนย์ ได้แก่
   - สาขาวิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม
   - สาขาวิชาครุศาสตร์สถาปัตยกรรมและการออกแบบ
   - สาขาวิชาครุศาสตร์วิศวกรรม
   - สาขาวิชาครุศาสตร์เกษตร
   - สาขาวิชาศิลปศาสตร์ประยุกต์
   - ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา
2. ส่วนบริหารงานทั่วไป

ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 16 เล่ม 134 ตอนพิเศษ 77 วันที่ 13 มีนาคม 2560

ความก้าวหน้าด้านโครงสร้างทางกายภาพ

พ.ศ. 2519 เริ่มโครงการจัดตั้งคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ ขอยืมอาคารเรียน (อาคาร 4) จากคณะสถาปัตยกรรมและอาคาร 2 ชั้น (ตึกกิจกรรมนักศึกษา) จากคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นสำนักงานชั่วคราว

พ.ศ. 2522 (1 ตุลาคม 2522) ได้รับงบประมาณแผ่นดินหมวดค่าครุภัณฑ์ที่ดิน และสิ่งก่อสร้างจำนวนประมาณ 42 ล้านบาทสร้างอาคารเรียน 5 ชั้น เป็นที่ทำการของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์(คณะวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน)

พ.ศ. 2524 สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสนมหาเถระ) เสด็จวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2524 เวลา 9.00 น.

พ.ศ. 2525 ย้ายที่ทำการจากอาคาร 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และอาคาร 2 ชั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มาอยู่ที่อาคาร5 ชั้น คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์

พ.ศ 2531 (1 ตุลาคม 2531) ได้รับงบประมาณแผ่นดินหมวดค่าครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้างจำนวน 47,750,0000 บาทก่อสร้างอาคารเรียนและห้องปฏิบัติการคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมเป็นอาคารสูง 5 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 8,410 ตารางเมตร เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ 1 มิถุนายน 2533

พ.ศ. 2535 รับมอบอาคารเรียนหลังใหม่เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2535 และเริ่มย้ายเข้ามาอยู่เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2535 นับเป็นอาคารเรียนหลังแรกนับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อเป็นคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม

พ.ศ. 2536 เปิดอาคารเรียนคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2536

พ.ศ. 2538 ได้รับงบประมาณ 120 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติงานหลังที่ 2 เป็นอาคารสูง 6 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 10,400 ตารางเมตร

พ.ศ. 2544 สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระญาณสังวรสกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิดอาคารเรียนและปฏิบัติการคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมหลังที่ 2 และ ทรงโปรดประทานนามว่า "อาคารปฏิบัติการพิเศษจอมไตร" เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2544

พ.ศ. 2545 ได้จัดสรรงบประมาณปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่บริเวณด้านหน้าคณะ ให้มีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม และสร้างสนามกีฬาเอนกประสงค์ เพื่อให้นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของคณะได้ออกกำลังกาย และจัดกิจกรรมต่างๆ

พ.ศ. 2560 ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณ 159,490,000 บาท ก่อสร้างอาคารเรียนรวมและปฏิบัติการคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม 11 ชั้น แล้วเสร็จ 11 กุมภาพันธ์ 2563 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 18 มกราคม 2567 อาคารดังกล่าวมีชื่อว่า “นวัตกรรมการเรียนรู้”